ชุดที่ 2
     
  ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2 แบ่งออกตามหมวด | | | ชุดที่ 3 | ชุดที่ 4 | หน้าหลัก  
     
พลับจีน (Persimmon , Kaki)

สรรพคุณทางยา :
เนื้อของผลพลับมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกายแก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ แก้ไอ และยังช่วยแก้พิษที่เกิดจากการรับประทานสุราอีกด้วย ส่วนผู้ที่มีอาการของโรคความดันโลหิตสูงหรือเป็นโรคริดสีดวงทวารนั้นหากรับประทานผลพลับสุกเป็นประจำ จะช่วยทำให้อาการของโรคดังกล่าวทุเลาลงได้ นอกจากนี้แล้วเนื้อของลูกพลับที่นำมาตากแห้งจะมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการร้อนใน เป็นแผลในปาก หรือคอแห้งได้เป็นอย่างดี ใบของต้นพลับก็ยังสามารถที่จะนำมาทำเป็นใบชาดื่มเป็นประจำ เพื่อลดอาการหลอดเลือดแข็งตัวความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาผลของลูกพลับที่ตากแห้งมาให้ผู้ที่ป่วยเป็นไข้อมไว้ในปากแล้วก็จะช่วยลดอาการไข้ หรือตัวร้อนได้ หรือหากนำเอาผลพลับมาต้มเคี่ยว รวมกับน้ำผึ้งแล้วก็สามารถที่จะใช้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการหลอดลมอักเสบได้เป็นอย่างดี

พุทรา (Chinese date)

สรรพคุณทางยา :
พุทรามีสรรพคุณในการเป็นยาบำรุงเลือดและบำรุงร่างกายเนื่องจากภายในผลของพุทรานั้น จะประกอบไปด้วยวิตามินซีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ก็ยังมีโปรตีน น้ำตาล และวิตามินบี-2 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ ผลจากการวิจัยพบว่า ผู้ที่รับประทานผลพุทราเป็นประจำจะสามารถหลีกเลี่ยงต่ออาการผนังเส้นเลือดแข็งตัว การมีปริมาณคอเลสเตอรอลภายในร่างกายสูง ผนังเส้นเลือดหัวใจตีบตัน หรือเส้นเลือดในสมองแตก พุทราก็ยังมีสรรพคุณที่ช่วยบำรุงระบบประสาท และช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับอีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาผลพุทราจีนมาคั่วจนสุก แล้วบดรวมกับขิงที่คั่วจนสุกแล้วดื่มแทนน้ำชาเป็นประจำ ก็สามารถที่จะป้องกันอาการท้องร่วงได้เช่นเดียวกับการนำเอาผลพุทรามาต้มรวมกับสมุนไพรบางชนิดแล้ว ก็สามารถที่จะนำมาใช้เป็นยาบำรุงของสตรีเพื่อบรรเทาอาการเลือดลมผิดปกติได้ หรือนำเอาผลพุทรามาต้มกับน้ำดื่มติดต่อกันเพื่อบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วหากนำเอาผลพุทราแห้งมาปิ้งกับไฟแล้วชงดื่มกับน้ำ ก็จะช่วยบรรเทาอาการไอได้เป็นอย่างดี

มะกอก (Hog plum)

สรรพคุณทางยา :
มะกอกมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน ซี หรือเกลือแร่ชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วมะกอกยังมีสรรพคุณในการลดความร้อนภายในร่างกาย ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการกระหาย ช่วยรักษาอาการไอและเจ็บคอ นอกจากนี้ก็ยังช่วยในการลดเสมหะภายในลำคออีกด้วย

มะกอกฝรั่ง (Olive)

สรรพคุณทางยา :
น้ำมันมะกอกนั้นจะมีสรรพคุณในการช่วยลอปริมาณคอเลสเตอรอลที่มีอยู่ในกระแสเลือดได้ และช่วยลดการจับตัวของเกล็ดเลือดที่บริเวณผนังเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี

มะขาม (Tamarind)

สรรพคุณทางยา :
ในเนื้อของผลมะขามที่แก่จัดจะมีสรรคุณในการเป็นยาระบาย และช่วยในการย่อยอาหารได้เป็นอย่างดี ช่วยให้บุคคลธรรมดาเจริญอาหารและช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องในสตรีมีครรภ์

ตำรับยาแผนโบราณ :
ในกรณีที่มีอาการท้องผูกหรือไม่ค่อยถ่ายอุจจาระให้รับประทานผลมะขามสุก หรือน้ำมะขามคั้นก่อนนอนเพื่อช่วยในการระบาย หรือหากนำเอาผลมะขามสดมาต้มรับประทานกับน้ำ ก็จะช่วยทำให้บุคคลบรรเทาอาการเบื่ออาหาร หรือสตรีมีครรภ์ลดอาการแพ้ท้องลง และถ้าหากนำเอาเมล็ดที่อยู่ในผลมะขามมาต้มกับน้ำแล้วกะเทาะเปลือกออกกินเป็นประจำแล้วก็จะช่วยในการขับพยาธิชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี หรือผู้ที่รับประทานมะขามเป็นประจำแล้วก็จะทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ

มะขามป้อม (Emblic myrobalan)

สรรพคุณทางยา :
ส่วนต่าง ๆ ของมะขามป้อม ไม่ว่าจะเป็น ผล ใบ ราก และเปลือกหุ้มลำต้นนั้นสามารถที่จะนำมาใช้เป็นยาได้ โดยเนื้อของผลมะขามป้อมน้ำจะมีสรรพคุณในการเป็นยาละลายเสมหะ แก้ไอ บรรเทาอาการของโรคหวัด เจ็บคอหรือรักษาโรคคอตีบได้

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาเนื้อของผลมะขามป้อมมาต้มกับน้ำสามารถที่จะใช้รับประทานแก้โรคไข้หวัด ลดไข้ และแก้อาการเจ็บคอได้เป็นอย่างดี ส่วนผลมะขามป้อมสดหรือน้ำมะขามป้อมคั้นสด ๆ นั้นสามารถที่จะใช้รับประทานเพื่อแก้พิษที่ได้รับจากปลาปักเป้าได้ หรือหากมีอาการกระหายน้ำ มีเสมหะในลำคอนั้นสามารถที่จะเคี้ยวผลมะขามป้อมเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ เหล่านั้นได้

มะเขือเทศ (Tomato)

สรรพคุณทางยา :
ในผลมะเขือเทศนั้นมีสรรพคุณทางยาด้วยตนเองเนื่องจากเนื้อของผลมะเขือเทศนั้น จะมีวิตามินหลายชนิดประกอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน เอ วิตามิน บี และวิตามิน ซี ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่รับประทานมะเขือเทศ หรือรับประทานอาหารที่ปรุงจากมะเขือเทศเป็นประจำแล้วจะช่วยลดอาการแข็งตัวของผนังหลอดเลือดลดลงได้มาก นอกจากนี้แล้วมะเขือเทศก็ยังมีสรรพคุณในการช่วยป้องกันและรักษาโรคลักปิดลักเปิด เลือดออกตามไรฟัน ช่วยบำรุงสายตา และช่วยในการย่อยอาหารอีกด้วย ส่วนในเด็กที่รับประทานมะเขือเทศเป็นประจำนั้นจะทำให้มีพัฒนาการทางสมองที่รวดเร็ว มีความจำที่ดี ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากผลของวิตามิน บี-1 ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในผลของมะเขือเทศนั่นเอง ส่วนวิตามิน ซี ที่มีในมะเขือเทศนั้นก็จะช่วยในการสร้างภูมิต้านทานของร่างกายและช่วยในการห้ามเลือดอีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
การรับประทานน้ำมะเขือสุกจะช่วยลดอาการท้องอืดเฟ้อ และอาหารไม่ย่อยได้ ช่วยดับกระหาย และช่วยรักษาโรคแผลร้อนใน ๆ ช่องปาก ส่วนเนื้อของผลมะเขือเทศนั้นก็มีสรรพคุณในการแก้พิษในร่างกาย ลดความดันโลหิต และช่วยบรรเทาอาการป่วยของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและโรคตับอักเสบได้ดีอีกด้วย

มะนาว (Lime)

สรรพคุณทางยา :
จากการศึกษาพบว่า น้ำมันหอมระเหยที่ได้จาการสกัดเปลือกของผลมะนาวนั้นจะมีสรรพคุณในการใช้เป็นยาขับลม ช่วยย่อยอาหาร และแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ดี นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานอาหารที่ปรุงโดยมีส่วนผสมของมะนาวเป็นประจำแล้ว จะช่วยป้องกันและรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน โรคลักปิดลักเปิด เนื่องจากวิตามิน ซี ที่มีเป็นจำนวนมากในผลของมะนาว นอกจากนี้แล้วมะนาวก็ยังช่วยในการขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ และช่วยป้องกันและรักษาอาการของโรคหวัดอีกด้วย น้ำมะนาวมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้อและยังช่วยกระตุ้นให้ตับทำการขับพิษออกจากร่างกายอีกด้วย ส่วนใบของต้นมะนาวนั้นสามารถที่จะนำมาใช้เป็นยาขับเสมหะภายในลำคอ และยังช่วยบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อได้เป็นอย่างดี

ตำรับยาแผนโบราณ :
นำเอาเปลือกมะนาวสดบีบหรือทุบให้น้ำมันที่เปลือกออกมา แล้วนำไปชงน้ำร้อนดื่มเพื่อบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ หรือนำน้ำมะนาวอุ่น ๆ มาดื่มเป็นประจำเพื่อป้องกันและรักษาอาการเจ็บคอ และโรคหวัดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว หากนำน้ำมะนาวมาผสมกับดินสอพองพอกลงไปในบริเวณที่มีรอยช้ำบวมนั้นก็จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยและยังจะช่วยให้รอยช้ำบวมนั้นหายไปได้อีกด้วย เช่นเดียวกับการนำเอารากของต้นมะนาวมาต้มกับน้ำสุกและเหล้าเล็กน้อย ดื่มเพื่อบรรเทาอาการฟกช้ำภายนอกและอาการบอบช้ำภายในร่างกาย และถ้าหากนำเอาใบของต้นมะนาวที่ตากจนแห้งมาต้มกับน้ำแล้วกิจแทนน้ำชาเป็นประจำแล้วจะช่วยห้องกันไม่ให้มีอาการไอและท้องอืดท้องเฟ้อได้ และหากนำเอาผลมะนาวผ่าซีกมาทาหรือพอกในบริเวณที่เป็นสิว ขี้แมลงวัน หรือรอยเหี่ยวย่นต่าง ๆ บนใบหน้าแล้วก็จะช่วยทำให้ผิวพรรณบริเวณใบหน้าเปล่งปลั่งขึ้น ส่วนสตรีมีครรภ์ที่แพ้ท้องนั้นสามารถที่จะนำเอาน้ำมะนาวมาใช้รับประทานเพื่อบรรอาการแพ้ท้อง หรือหารับประทานเป็นประจำแล้วก็จะช่วยรักษาครรภ์และป้องกันการแท้งบุตรได้ หรือในบุคคลที่มีอาการวิงเวียนศีรษะแล้วก็สามารถที่จะใช้รับประทานเพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้เช่นเดียวกัน

มะนาวฝรั่ง (Lemon)

สรรพคุณทางยา :
เลมอนมีสรรพคุณทางยาเช่นเดียวกับมะนาว เพราะมีวิตามิน ซี เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงช่วยทำให้เจริญอาหาร ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด

ตำรับยาแผนโบราณ :
ผลของมะนาวฝรั่งหากนำมาต้มในน้ำเดือดจนกระทั่งร้อนสามารถที่จะใช้คลึงในบริเวณผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการฟกช้ำบริเวณผิวหนังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ แล้วหากนำเอาน้ำและเปลือกของผลเลมอนมาต้มรับประทานกับน้ำ หรือรับประทานร่วมกับชาแล้วก็จะทำให้เจริญอาหาร ช่วยย่อยอาหาร และช่วยแก้กระหายได้เป็นอย่างดี

มะพร้าว (Coconut)

สรรพคุณทางยา :
เนื้อของผลมะพร้าวมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ส่วนน้ำของผลมะพร้าวนั้นก็มีฤทธิ์ในการลดความร้อนดับกระหายและใช้ในการขับพยาธิชนิดต่าง ๆ ได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นพยาธิใบไม้ พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด เป็นต้น ส่วนจาวมะพร้าวหรือต้นอ่อนที่งอกอยุ่ภายในผลของมะพร้าวนั้นสามารถที่จะใช้เป็นยาขับพยาธิได้เช่นเดียวกัน

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาเนื้อมะพร้าวมารับประทานเป็นประจำในขณะที่ท้องว่างจะช่วนในการขับ พยาธิใบไม้(Fasciolopsis) และพยาธิตัวตืด(Tape worm) ได้เป็นอย่างดี หรือหากรับประทานน้ำมะพร้าวเป็นประจำแล้วก็จะช่วยป้องกันอาการของโรคหัวใจล้มเหลว และยังช่วยลดอาการบวมน้ำหรือตัวบวมได้อีกด้วย ส่วนน้ำมันที่ได้จากกะลามะพร้าวสามารถที่จะนำมาใช้เป็นยาทารักษากลากเกลื้อน และโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

มะเฟือง (Belimbing , Carambola)

สรรพคุณทางยา :
มะเฟืองนั้นนับได้ว่าเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยามากมายไม่ว่าจะเป็นส่วนของผล ราก ดอก และใบ โดยผลของมะเฟืองมีสรรพคุณในการแก้อาการไอ และยังช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย อีกทั้งช่วยถอนพิษและบรรเทาอาการของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะอีกด้วย ส่วนใบของต้นมะเฟืองนั้นหากนำมารับประทานกับน้ำก็จะมีฤทธิ์ในการเป็นยาขับปัสสาวะ หรือถ้าหากนำมาบดแล้วพอกลงบนผิวหนังแล้ว ก็จะมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการอักเสบ ช้ำบวม

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำรากของต้นมะเฟืองมาต้มรวมกับน้ำแล้วรับประทานก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้เป็นอย่างดี ส่วนดอกของมะเฟืองนำมาต้มรับประทานกับน้ำแล้วก็จะช่วยในการขับพิษของฝิ่นที่เสพเข้าไปได้ ส่วนผลมะเฟืองสดหากนำมาคั้นเอาแต่น้ำแล้วรับประทานพร้อมกันกับน้ำแล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการม้ามโตได้ ใบมะเฟืองสดนั้นสามารถที่จะนำเอามาพอกลงบนแผลที่ช้ำบวมเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ นอกจากนี้แล้วผลมะเฟืองสามารถที่จะนำมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ เป็นไข้หวัด และขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้

มะไฟ (Rambeh , Rambi)

สรรพคุณทางยา :
ส่วนต่าง ๆ ของต้นมะไฟนั้น ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณในการเป็นยารักษาอาการต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นใบของต้นมะไฟมีสรรพคุณในทางยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการของไข้หวัด แก้ไอ รักษาโรคมาเลเรีย และยังช่วยในการขับปัสสาวะอีกด้วย ส่วนผลของมะไฟมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหาร ละลายเสมหะรักษาอาการท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ส่วนเมล็ดของผลมะไฟนั้นใช้บรรเทาอาการปวดท้องได้อีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาใบของต้นมะไฟมาต้มเคี่ยวจนงวดและแห้งหลาย ๆ ครั้งนำมาดื่มแล้ว สามารถที่จะบรรเทาหรือป้องกันโรคหวัดได้เป็นอย่างดี ส่วนผลของมะไฟ หากนำเอามาตากแห้งแล้วต้มรับประทานกับน้ำหรือใช้ส่วนของเปลือกรากมาต้มกับน้ำผสมกับสุราเล็กน้อยใช้ดื่มเพื่อบรรเทาอาการปวดที่ลำไส้ กระเพาะอาหาร และรักษาโรคไส้เลื่อนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วหากนำเอาใบมะไฟสดมาอบหรือตากให้แห้งแล้วบดละเอียดผสมกับสุราแล้วรับประทานวันละสองครั้งเพื่อแก้พิษจากการถูกงูกัดหรือสุนัขบ้ากัด ส่วนกากของยาที่กรองเอาไว้สามารถที่จะนำเอาไปพอกบริเวณแผลเพื่อบรรเทาอาการปวด

มะม่วง (Mango)

สรรพคุณทางยา :
ส่วนต่าง ๆ ของมะม่วงล้วนแต่มีสรรพคุณทางยาไม่ว่าจะเป็นเนื้อของผลมะม่วง เมล็ดในมะม่วง เปลือกหุ้มลำต้น และใบมะม่วง โดยเนื้อของผลมะม่วงมีสรรพคุณในการเป็นยาแก้อาการไอ ละลายเสมหะ แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ดับกระหาย ขับปัสสาวะ ช่วยให้เลือดลมและประจำเดือนของสตรีเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีสรรคุณในการแก้อาการอักเสบและอาการแพ้ชนิดต่าง ๆ อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตไม่ควรที่จะรับประทานมะม่วงมากเกินไปนักเพราะจะทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากรับประทานมะม่วงสดเป็นประจำแล้วก็จะช่วยทำให้อาการไอ หอบ มีเสมหะ หรือมีเลือดออกตามไรฟันบรรเทาลงไปได้ และถ้านำเอาเปลือกมะม่างสดมาต้มกับน้ำแล้วนำไปล้างแผลในบริเวณผิวหนังที่เป็นอักเสบตกสะเก็ด ก็จะช่วยลดอาการอักเสบได้ ส่วนเมล็ดในผลมะม่วงนั้นสามารถที่จะนำมาต้มกับน้ำเพื่อบรรเทาอาการปวดเนื่องมาจากไส้เลื่อน หรือหากนำเอาใบมะม่วงมาต้มกับน้ำมาล้างแผล หรือใช้ใบมะม่วงที่ตำละเอียดมาพอกที่แผลจะช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น

มะยม (Star-gooseberry)

สรรพคุณทางยา :
มะยมมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ วิตามิน ซี และเกลือแร่ชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วมะยมก็ยังมีสรรพคุณในการเป็นยาระบายอย่างอ่อน ๆ ช่วยทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ แก้การเจ็บคอ และยังช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนสำหรับสตรีมีครรภ์ที่แพ้ท้องอีกด้วย

มะละกอ (Papaya)

สรรพคุณทางยา :
จากการศึกษาพบว่าผลมะละกอมีสารชื่อ Capaine ที่มีสรรพคุณในการต่อต้านการเกิดของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้ว มะละกอก็ยังมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงอวัยวะภายในต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น ม้าม และกระเพาะอาหาร ช่วยในการย่อยอาหาร และยังช่วยทำให้ผิวพรรณดี อีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากใช้เหลือกมะละกอดิบตากแห้งแล้วบดเป็นผงให้ละเอียด แล้วรับประทานก่อนอาหารก็จะช่วยในการขับถ่ายพยาธิ ส่วนใบมะละกอนั้นหากนำมาตำให้ละเอียดแล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการผิวหนังที่ฟกช้ำได้ นอกจากนี้แล้วเนื้อของมะละกอดิบหากนำเอามาตากแห้งแล้วบดเป็นผงละเอียดใช้โรยแผลผุพองและอักเสบได้

มังคุด (Mangosteen)

สรรพคุณทางยา :
มังคุดมีสรรพคุณทางยาโดยช่วยให้มีการระบายอย่างอ่อนในกรณีที่ผู้รับประทานเกิดอาการท้องผูก แต่ก็ควรระวังถ้าหากรับประทานมังคุดมากไปแล้วก็อาจจะทำให้เกิดอาการท้องเดินขึ้นมาได้

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
     
  ชุดที่ 1 | ชุดที่ 2 แบ่งออกตามหมวด | | | ชุดที่ 3 | ชุดที่ 4 | หน้าหลัก