ชุดที่ 1
     
  ชุดที่ 1 แบ่งออกตามหมวด | | | | | | | | | | ชุดที่ 2 | ชุดที่ 3 | ชุดที่4 | หน้าหลัก  
     
กล้วย (Banana)

สรรพคุณทางยา :
ผลของกล้วยมีสรรพคุณที่ใช้ในการักษาอาการผิดปกติของร่างกายมนุษย์หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะความเป็นพิษภายในร่างกาย นอกจากนี้แล้ว ผลของกล้วยยังช่วยให้ปอดชุ่มชื้นและแก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาเปลือกกล้วยหอมสดมาต้มกับน้ำ สามารถที่จะรับประทานเป็นประจำ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองแตกได้ นอกจากนี้แล้ว การรับประทานกล้วยวันละ 1 – 2 ผล เป็นประจำแล้วก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร และอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และถ้าหากเป็นไข้ตัวร้อนหรือมีอาการเจ็บคอแล้ว การรับประทานกล้วยสุกก็จะช่วยลดอาการไข้ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับอาการไอเรื้อรังนั้น สามารถที่จะรักษาให้หายได้โดยการใช้กล้วยหอมสุกต้มกับน้ำตาลทราย แล้วรับประทานติดต่อกันจนหาย นอกจากนี้แล้วเปลือกและเนื้อกล้วยที่สุกงอมแล้ว สามารถที่จะนำมาใช้พอกทาบริเวณส้นเท้าที่แตกได้

กระจับ (Singhara nut)

สรรพคุณทางยา :
ในเนื้อผลกระจับสดมีสรรพคุณในการช่วยดับความร้อนภายในร่างกาย และผลที่ต้มสุกแล้วจะเป็นยาช่วยย่อยและแก้อาการปวดเมื่อย ปวดหลังและแก้พิษจากการดื่มสุรา

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาน้ำต้มเปลือกกระจับที่สุกแล้วมาผสมกับน้ำมันงามาชโลมบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารแล้วจะช่วยรักษาอาการของริดสีดวงทวารหนักได้ นอกจากนี้แล้วหากนำเอาส่วนขั้วของก้านผลกระจับมาถูที่รอบ ๆ ผิวหนังบริเวณที่เป็นหูดแล้วก็จะรักษาอาการหูดได้เป็นอย่างดี และก้านของต้นกระจับก็ยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอีกด้วย

กระเจี๊ยบ (Rosella)

สรรพคุณทางยา :
น้ำกระเจี๊ยบมีสรรพคุณในการช่วยรักษาอาการร้อนในภายในช่องปาก ลดปริมาณของไขมันในเส้นเลือด ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยลดระดับของความดันโลหิตภายในร่างกายให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ และยังเป็นยาระบายอ่อน ๆ อีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาดอกกระเจี๊ยบมาต้มกับน้ำตาลทรายและน้ำแล้วหมั่นรับประทานเป็นประจำก็จะช่วยลดความดันโลหิตลงได้

กระท้อน (Santol)

สรรพคุณทางยา :
กระท้อนมีสรรพคุณในการลดอาการเจ็บคอและแก้กระหายได้เป็นอย่างดี

กาแฟ (Coffee)

สรรพคุณทางยา :
กาแฟมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการท้องเสียหรือท้องเดินและยังช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า ตลอดจนมีฤทธิ์ในการช่วยขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี

โกโก้ (Cocoa)

สรรพคุณทางยา :
โกโก้มีสรรพคุณในการช่วยทำให้ชุ่มคอ และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจอีกด้วย

เกาลัด (Chinese chestnut)

สรรพคุณทางยา :
ผลเกาลัดนั้นมีสรรพคุณในการเป็นยาที่ช่วยบำรุงร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ โดยมีสรรพคุณในการบำรุงอวัยวะภายในอันได้แก่ กระเพาะ ไต และยังช่วยในการฟอกโลหิต และบรรเทาอาการช้ำในอีกด้วย นอกจากนี้แล้วเปลือกของผลเกาลัดก็ยังช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างผิดปกติ และบรรเทาอาการอุจจาระเป็นเลือดได้อีกด้วย ส่วนใบของต้นเกาลัดก็ยังมีสรรพคุณ เป็นยาแก้โรคหลอดลมอักเสบ และนำมาใช้ทาบริเวณผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการผดผื่นคันได้ดีอีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาผลเกาลัดมารับประทานเป็นประจำแล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการของโรคหลอดลมอักเสบไม่ให้กำเริบขึ้นมาได้ หรือหากนำเอาเปลือกของผลเกาลัดมาต้ม ให้เด็กที่มีอาการเลือดกำเดาไหลเป็นประจำรับประทานแล้วก็จะช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้นได้

ขนุน (Jack fruit)

สรรพคุณทางยา :
ส่วนเนื้อของผลขนุนนั้นมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหารและช่วยดูดซึมแก้พิษจากการดื่มสุราได้ นอกจากนี้แล้วการรับประทานผลขนุนสุกก็ยังช่วยแก้กระหายได้เป็นอย่างดี ส่วนของเมล็ดขนุนนั้นมีสรรพคุณในการช่วยเพิ่มน้ำนมของมารดาภายหลังคลอด ส่วนใบของต้นขนุนสามารถที่จะใช้เป็นยาสมานแผลนอกจากนี้แล้ว ยางจากลำต้นของขนุนก็มีสรรพคุณในการแก้ปวดลดอาการอักเสบซ้ำบวม และรักษาอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้เป็นอย่างดี

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอายางขนุนสด ๆ ที่กรีดมาจากลำต้นทาที่แผลเปื่อยเรื้อรังแล้วก็จะช่วยให้หายจากอาการดังกล่าวได้ดี หรือใบขนุนตากแห้งนั้นสามารถที่จะนำมาใช้พอกบริเวณแผลที่ถูกของมีคมบาดเพื่อใช้ห้ามเลือดและรักษาแผลนอกจากนี้แล้ว เมล็ดขนุนอบแห้งที่บดเป็นผงหากนำมารับประทานกับน้ำก่อนอาหารแล้วก็จะช่วยรักษาอาการลำไส้อักเสบได้ดี

เงาะ (Rambutan)

สรรพคุณทางยา :
เนื้อของผลเงาะสุกมีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องร่วงได้เป็นอย่างดี

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาเปลือกของผลเงาะต้มสุกมาต้มกินกับน้ำแล้วก็จะมีฤทธิ์เป็นยาแก้อักเสบซึ่งสามารถที่จะใช้ฆ่าแบคทีเรีย รักษาอาการอักเสบภายในช่องปาก และยังใช้รักษาโรคท้องร่วงได้เป็นอย่างดี ข้อควรระวังคือ เมล็ดของผลเงาะนั้นจะมีพิษหากรับประทานเข้าไปแล้วอาจจะทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้

ชมพู่ (Wax jambu)

สรรพคุณทางยา :
ในผลของชมพู่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวิตามินหรือเกลือแร่ชนิดต่าง ๆ ดังนั้น จึงทำให้ผู้ที่รับประทานชมพู่เป็นประจำนั้นมีร่างกายที่แข็งแรง นอกจากนี้แล้ว ชมพู่ก็ยังมีสรรพคุณในการช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอและลดเสมหะที่มีในคอ ช่วยในการย่อยอาหาร ตลอดจนเป็นยาระบายอ่อน ๆ อีกด้วย

เชอรี่ (Cherry)

สรรพคุณทางยา :
เนื้อของผลเชอรี่มีสรรพคุณในการเป็นยาบำรุงกำลัง แก้โรคไขข้ออักเสบ หรืออาการปวดหลังและปวดตามข้อ ใช้ป้องกันและรักษาผู้ที่มีอาการแพ้อากาศเย็น นอกจากนี้แล้วยังช่วยทำให้ผู้ที่เป็นโรคหัดออกหัดได้เร็วขึ้น

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาเมล็ดของผลเชอรี่มาต้มรวมกันกับน้ำแล้วนำไปให้ผุ้ที่เป็นโรคหัดกินแล้วก็จะมีฤทธิ์ที่ช่วยทำให้ผู้ป่วยนั้นออกเร็วยิ่งขึ้น ส่วนรากของต้นเชอรี่สามารถที่จะนำเอามาตำให้แหลกแล้วคั้นเอาแต่น้ำเพื่อบรรเทา หรือรักษาอาการปวดเนื่องมาจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว น้ำเชอรี่สดนั้นหากนำไปทาในบริเวณแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวกและไฟไหม้แล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการปวด และยังช่วยป้องกันไม่ให้แผลอักเสบอีกด้วย

แตงไทย (Musk melon)

สรรพคุณทางยา :
เนื้อของผลแตงไทยมีความเย็น ดังนั้น จึงมีสรรพคุณในการดับกระหาย ลดความร้อนภายในร่างกาย ขับปัสสาวะ แต่ผู้ที่ท้องร่วงได้ง่ายไม่ควรที่จะรับประทานแตงไทยมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาก้านขั้วของเถาแตงไทยมาตากแห้งแล้ว บดให้เป็นผงทาลงไปบริเวณช่องจมูก จะช่วยบรรเทาอาการช่องจมูกอักเสบได้ นอกจากนี้ หากนำเอาเมล็ดแตงไทยบดละเอียดปนกับน้ำ สามารถที่จะใช้รับประทานเพื่อแก้อาการปอดอักเสบหรือใช้บ้วนปากแก้อาหารมีกลิ่นปากได้

แตงโม (Water melon)

สรรพคุณทางยา :
เนื้อของผลแตงโมหากรับประทานอย่างสม่ำเสมอแล้วก็จะมีสรรพคุณในการเป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้เจริญอาหาร ช่วยในการย่อยอาหาร รักษาโรคไต บรรเทาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลดความดันโลหิต และช่วยในการขับปัสสาวะได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วน้ำแตงโมก็ยังมีสรรพคุณในการลดความร้อนภายในร่างกายและช่วยลดความดันโลหิตอีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาเปลือกแตงโมมาต้มเคี่ยวกับน้ำจนข้นแล้วสามารถที่จะใช้เป็นยาเพื่อบรรเทาอาการไตอักเสบเรื้อรังได้ หรือหากนำเอาเปลือกแตงโมสดมาต้มกินแทนน้ำชาแล้วจะช่วยลดอาการความดันโลหิตสูงได้เป็นอย่างดี และการดื่มน้ำแตงโมก็จะช่วยป้องกันและรักษาอาการของโรคหวัดหรือเจ็บคอได้อีกด้วย นอกจากนี้แล้ว หากนำเนื้อผลแตงโมมาแกะเอาเมล็ดออกแล้วบีบคั้นเอาแต่น้ำ ใส่ลงไปในภาชนะดินเผาตั้งไฟอ่อน คอยหมั่นกวนเสมอ ๆ จนน้ำแตงโมเริ่มเหนียวก็ยกลงจากเตาทิ้งไว้ให้เย็นแล้ว ก็จะได้น้ำตาลแตงโมที่รับประทานแก้อาการของโรคความดันโลหิตสูงได้

ทับทิม (Pomegranate)

สรรพคุณทางยา :
จากการทดลองทางเภสัชวิทยาพบว่า เปลือกหุ้มรากของต้นทับทิมนั้นจะมีฤทธิ์ในการขับพยาธิตัวตืด ฆ่าพยาธิชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีสรรพุณในการออกฤทธิ์ต้านทานต่อเชื้อไทฟอยด์ วัณโรค และเชื้อราในบริเวณผิวหนังอีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาเปลือกหุ้มผลทับทิมมาผสมกับน้ำตาลแล้วต้มกับน้ำจนเดือดแล้ว สามารถที่จะใช้เป็นยารักษาโรคบิดได้ หรือการนำเอาเปลือกที่หุ้มผลทับทิมมาคั่วจนแห้งแล้วบดเป็นผงนำมารับประทานแก้โรคท้องร่วงและประจำเดือนมามากผิดปกติในสตรีได้ ส่วนเปลือกหุ้มรากของต้นทับทิมหากนำมาต้มกับน้ำและน้ำตาลทราย ดื่มขณะที่ท้องว่างติดต่อกันแล้ว ก็จะมีฤทธิ์ในการขับพยาธิตัวตืด พยาธิปากขอ พยาธิใบไม้ พยาธิตัวกลมได้เป็นอย่างดี

ท้อ (Plum)

สรรพคุณทางยา :
เนื้อของผลท้อ เมล็ดลูกท้อ ดอกท้อ และใบของต้นท้อ ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณในการเป็นยารักษาโรคแทบทั้งสิ้น โดยเมล็ดของลูกท้อนั้นจะมีสรรพคุณในการบำรุงโลหิต ช่วยให้ลำไส้และหัวใจทำงานอย่างเป็นปกติ ส่วนดอกท้อนั้นมีสรรคุณในการเป็นยาระบาย และเป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนใบของต้นท้อนั้นจะช่วยในการขับพยาธิ

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาเมล็ดของผลท้อมาต้มน้ำดื่มแล้วก็จะช่วยบรรเทาอาการของโรคความดันโลหิตสูง อาการปวดศีรษะ หรืออาการท้องผูกได้ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก และขับถ่ายไม่สะดวกแล้วให้นำเอาดอกท้อตากห้งมาบดผสมกับน้ำผึ้งรับประทานเป็นประจำก็จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

น้อยหน่า (Sugar apple , Sweetsop)

สรรพคุณทางยา :
ผลน้อยหน่ามีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิดทั้งวิตามิน เกลือแร่ แคลเซียมหรือธาตุเหล็ก นอกจากนี้แล้วน้อยหน่าก็ยังมีสรรพคุณในการเป็นยาระบายอย่างอ่อน ๆ และช่วยทำให้ชุ่มคออีกด้วย

บ๊วย (Japanese apricot)

สรรพคุณทางยา :
บ๊วยมีสรรพคุณในการแก้อาการกระหายน้ำ ช่วยขับพยาธิที่มีอยู่ภายในลำไส้ ช่วยแก้ไขอาการคลื่นไส้อาเจียน มีการทดลองทางเภสัชวิทยาที่เชื่อว่า เนื้อของผลบ๊วยมีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้หลายชนิด นอกจากนี้แล้วผลบ๊วยก็ยังมีสรรคุณในการรักษาอาการท้องร่วงเรื้อรังอีกด้วย และถ้าหากผู้ใดที่รับประทานน้ำบ๊วยเป็นประจำแล้วก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหารได้อีกด้วย

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาผลบ๊วยตากแห้งมาผสมกับน้ำแล้วต้มจนแห้งสองถึงสามครั้งแล้วนำมาดื่มก่อนการรับประทานอาหารอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะช่วยให้การขับพยาธิปากขอได้ นอกจากนี้หากนำเอาผลบ๊วยมาต้มทำเป็นน้ำบ๊วยเพื่อดื่มเป็นประจำแล้วก็สามารถที่จะใช้ในการลดอุณหภูมิความร้อนภายในร่างกายและใช้ดื่มแก้กระหายได้

ฝรั่ง (guava)

สรรพคุณทางยา :
ฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีวิตามินอยู่เป็นจำนวนมากโดยผลฝรั่งนั้นจะมีปริมาณของวิตามิน ซี มากกว่าส้มถึง 5 เท่า ซึ่งวิตามินซีดังกล่าวนั้นมีความสำคัญต่อการสร้างสารคอลลาเจนในร่างกาย ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพผิวหนังและเนื้อเยื่อต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วส่วนต่าง ๆ ของฝรั่งไม่ว่าจะเป็นเนื้อของผลฝรั่ง ใบ เปลือกหุ้มลำต้น และรากของต้นฝรั่งนั้นล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณที่สามารถจะเป็นยาได้ ไม่ว่าจะใช้เป็นยารักษาโรคท้องร่วง ยาห้ามเลือด ยาแก้โรคลำไส้อักเสบ เสริมภูมิต้านทานโรค และเป็นยาสมานแผล เป็นต้น ส่วนใบของฝรั่งมีสรรพคุณในการรักษาอาการของโรคท้องร่วง โรคบิดและอุจจาระเป็นมูกเลือด นอกจากนี้แล้วเมล็ดของฝรั่งก็ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์จำพวกแพคตินเป็นจำนวนมาก

ตำรับยาแผนโบราณ :
หากนำเอาใบฝรั่งมาต้มกับน้ำแล้วสามารถที่จะนำเอามาล้างในบริเวณที่เป็นแผลอักเสบ เป็นหนอง หรือมีผื่นคันเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวได้ นอกจากนี้แล้วหากนำเอาใบฝรั่งที่คั้นเอาแต่น้ำมาต้มให้สุกแล้วใช้รับประทานเพื่อบรรเท่าอาการของโรคบิดและลำไส้อักเสบได้ หากบริโภคใบฝรั่งตากแห้งติดต่อกันแล้วจะช่วยระงับอาการท้องร่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผลฝรั่งที่ยังไม่สุกนั้นสามารถที่จะนำเอาไปตากแห้งแล้วบดเป็นผงเพื่อใช้ห้ามเลือดจากบาดแผลได้ นอกจานี้แล้วใบฝรั่งสดที่นำมาเคี้ยวก็จะช่วยในการระงับกลิ่นปากได้

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
     
  ชุดที่ 1 แบ่งออกตามหมวด | | | | | | | | | | ชุดที่ 2 | ชุดที่ 3 | ชุดที่4 | หน้าหลัก